ข่าวประชาสัมพันธ์

ม.วลัยลักษณ์ จับมือ มิวเซียมสยาม ลงนามความร่วมมือ การจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาเทพรัตนราชสุดาฯ

MOU ม.วลัยลักษณ์ กับ มิวเซียมสยาม
          มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ หรือมิวเซียมสยาม เพื่อจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาเทพรัตนราชสุดาฯ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ให้เป็นแหล่งเรียนรู้สำคัญในภาคใต้
MOU ม.วลัยลักษณ์ กับ มิวเซียมสยาม
          ศาสตราจารย์ ดร.ธวัชชัย ศุภดิษฐ์ รักษาการแทนรองอธิการบดี ในนามผู้แทนมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ การจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาเทพรัตนราชสุดาฯ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ร่วมกับ นายราเมศ พรหมเย็น รองผู้อำนวยการสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ และผู้อำนวยการสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565 ณ ห้องบรรยาย 1 หน่วยประสานงานมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กรุงเทพมหานคร โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รุ่งรวี จิตภักดี ผู้อำนวยการอุทยานพฤกษศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และนายกฤชณรัตน สิริธนาโชติ รักษาการผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาเครือข่ายพิพิธภัณฑ์ สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ เป็นพยานในพิธีลงนาม
MOU ม.วลัยลักษณ์ กับ มิวเซียมสยาม
MOU ม.วลัยลักษณ์ กับ มิวเซียมสยาม
          บันทึกข้อตกลงความร่วมมือที่จัดทำขึ้นนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อร่วมกันดำเนินการศึกษาและพัฒนาองค์ความรู้ด้านการวิจัยและบริการวิชาการภายใต้โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และในนามมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ตลอดจนเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งนำข้อมูลที่ได้จากการศึกษามาจัดการเผยแพร่องค์ความรู้ไปสู่สาธารณะผ่านพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาเทพรัตนราชสุดาฯ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ให้เป็นต้นแบบแหล่งเรียนรู้ด้านการจัดแสดงนิทรรศการ การเผยแพร่องค์ความรู้สู่สาธารณะ และการบริหารจัดการตามมาตรฐานแหล่งเรียนรู้ในระดับสากล
MOU ม.วลัยลักษณ์ กับ มิวเซียมสยาม
MOU ม.วลัยลักษณ์ กับ มิวเซียมสยาม
          ศาสตราจารย์ ดร.ธวัชชัย ศุภดิษฐ์ กล่าวว่า การจะให้ผู้ปกครองหรือเด็กมีการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชคงเป็นไปได้ยาก จึงต้องนำเอาความรู้ทางวิชาการ เช่น การเข้าค่ายวิทยาศาสตร์ การเข้าค่ายภาษาอังกฤษ หรืออื่น ๆ มาเป็นตัวช่วย แล้วให้เด็กได้เรียนรู้พันธุกรรมพืชไปด้วย เพื่อให้เกิดความรักที่จะเรียนรู้และเกิดความสนุก ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อตัวเด็กเองในอนาคต มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์มีความประสงค์จะเก็บพันธุกรรมพืชต่าง ๆ เอาไว้ให้คนไทยได้เรียนรู้ ไม่ใช่เฉพาะภาคใต้อย่างเดียว โดยได้ร่วมกับโครงการในพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เพื่อดำเนินการในเรื่องนี้ เราต้องระดมสิ่งที่คิดว่าจะเป็นประโยชน์กับนักเรียน ค่อย ๆ ปลูกฝังทางความคิด อย่างที่มิวเซียมสยามมีเรื่องของวัฒนธรรมท้องถิ่นไทยหลาย ๆ อย่าง ถ้าให้เขาเรียนรู้ เขาก็จะระลึกได้ว่า จริง ๆ แล้วความเป็นตัวตนของคนไทยเป็นอย่างไร มหาวิทยาลัยขอขอบคุณทางมิวเซียมสยาม ที่ให้โอกาสทำความร่วมมือต่อกันในครั้งนี้

          ด้าน นายราเมศ พรหมเย็น กล่าวว่า ประเทศไทยมีพิพิธภัณฑ์จำนวนมากกระจายอยู่ตามที่ต่าง ๆ ซึ่งยังขาดมาตรฐานการจัดการที่ดี ทำให้พิพิธภัณฑ์กลายเป็นที่เก็บของเก่า ด้วยเหตุนี้ทำให้รัฐบาลตั้งโจทย์ว่า จะทำอย่างไรให้พิพิธภัณฑ์ตอบสนองต่อเจตจำนงของความเป็นพิพิธภัณฑ์ ให้มีบทบาทในการเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับคนในสังคม และเกิดกระบวนการในการจัดการความรู้ในพิพิธภัณฑ์ที่สอดคล้องกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งมีความสนใจที่แตกต่างและหลากหลายในแต่ละช่วงวัย พิพิธภัณฑ์จึงต้องเปลี่ยนภาพลักษณ์บางอย่างเพื่อให้เห็นว่า พิพิธภัณฑ์นั้นตอบโจทย์ต่อการเรียนรู้ เป็นสถานที่สร้างความภาคภูมิใจให้กับคนในสังคม และเป็นสถานที่ซึ่งเป็นความมั่นคงทางสังคมวัฒนธรรมท้องถิ่นนั้น การที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์มีความสนใจที่จะพัฒนาพิพิธภัณฑ์ที่จะตอบโจทย์ให้กับคนในท้องถิ่น ถือเป็นนิมิตรหมายที่ดี ที่จะใช้พิพิธภัณฑ์เป็นเครื่องมือใน การถ่ายทอดความรู้กับประชาชน ซึ่งตรงกับบทบาทของมิวเซียมสยามในการชักชวนหรือดึงภาคีเครือข่ายต่าง ๆ เพื่อมาร่วมกันพัฒนาประเทศของเราผ่านพิพิธภัณฑ์ด้วยกัน ถือเป็นจุดตั้งต้นที่ดีในการทำความร่วมมือเพื่อจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ให้เกิดขึ้นในภาคใต้ และมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ก็เป็นแกนหลักที่สำคัญของภาคใต้ที่จะทำให้ประชาชนและเยาวชนในภาคใต้ได้มีโอกาสเข้าถึงองค์ความรู้ ได้มีโอกาสที่จะมาเรียนรู้ผ่านกิจกรรมการเรียนรู้ต่าง ๆ เราคาดหวังเป็นอย่างสูงว่าพิพิธภัณฑ์แห่งนี้จะเป็นพื้นที่เรียนรู้ใหม่ ๆ ให้กับสังคม ประเทศไทย และเอเชียต่อไป

MOU ม.วลัยลักษณ์ กับ มิวเซียมสยาม
วันที่ประกาศ 01/03/2565