กิจกรรมหน่วยประสานงานฯ

เพราะ COVID-19 ยังไม่หายไป...เรื่องความปลอดภัยเราให้ความสำคัญ

กิจกรรมชวนหารือ

          กิจกรรม “ชวนหารือ” เรื่อง ความปลอดภัยในการทำงานในสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2564 ผ่านระบบ Zoom Cloud Meeting บุคลากรหน่วยประสานงานมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กรุงเทพมหานคร ได้ร่วมกันจัดทำแนวทางป้องกันความเสี่ยงและแผนรับมือเพื่อเสริมสร้างความปลอดภัยในการปฏิบัติงาน โดยคำนึงถึงความปลอดภัยทั้งของผู้ปฏิบัติงานและผู้มารับบริการ ประเด็นหารือ ประกอบด้วย 3 ประเด็นหลัก ดังนี้
1. พิจารณาความเสี่ยงในการปฏิบัติงานของบุคลากร
2.
จัดทำแนวทางป้องกันความเสี่ยงและเสริมสร้างความปลอดภัยในการปฏิบัติงาน
3.
จัดทำแผนรับมือเมื่อต้องเข้าปฏิบัติงานในสำนักงานตามปกติ ภายหลังสิ้นสุดการ Work from home

กิจกรรมชวนหารือ

          ในสถานการณ์วิกฤติของการแพร่ระบาดในขณะนี้ หน่วยประสานงานฯ ถือเป็นหน่วยงานในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด และได้มีมาตรการให้บุคลากรปฏิบัติงาน Work from home มาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2564 โดยบุคลากรจะต้องรับผิดชอบภาระงานที่ปฏิบัติไม่ให้เกิดผลกระทบ กิจกรรม “ชวนหารือ” ที่จัดขึ้นนี้ เป็นการระดมความคิดเห็นของบุคลากรในเรื่องความเสี่ยงในการปฏิบัติงานและแนวทางการป้องกัน โดยจำแนกตามโครงสร้างภาระงานในบริบทที่ประสบในสถานการณ์ปัจจุบัน ได้ข้อสรุป ดังนี้
          แนวทางป้องกันความเสี่ยงและเสริมสร้างความปลอดภัยในการปฏิบัติงาน
1. บุคลากรสวมหน้ากากอนามัย 100 เปอร์เซ็นต์ และป้องกันตนเองอย่างเคร่งครัด
2.
การสัมผัสเอกสาร พัสดุ ควรต้องคำนึงถึงความปลอดภัยมีการฉีดพ่นแอลกอฮอล์ทุกครั้ง
3.
อาหารและเครื่องดื่มสำหรับจัดเลี้ยงเน้นอาหารที่ผ่านความร้อน มีบรรจุภัณฑ์ที่ปลอดภัย
4.
เพิ่มความถี่ในการทำความสะอาดพื้นที่สำนักงานและห้องน้ำ
5. ประสานงานและรับส่งข้อมูลผ่านระบบออนไลน์ มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการปฏิบัติงานมากขึ้น
6.
เว้นระยะห่างและระมัดระวังในการรับประทานอาหาร
7.
จัดพื้นที่นั่งทำงานให้มีระยะห่างที่เหมาะสม
8.
ปฏิบัติงาน Work from home เป็นหลัก โดยเข้าปฏิบัติงานในสำนักงานเท่าที่จำเป็น
9. ตรวจหาเชื้อด้วยวิธี ATK เมื่อมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ เพื่อความปลอดภัยของส่วนรวม

          การปฏิบัติงานในกรณีที่บุคลากรต้องกักตัวเนื่องจากเป็นกลุ่มเสี่ยง
1. ในกรณีที่บุคลากรต้องกักตัว จะต้องคำนึงถึงภาระงาน 2 ส่วน ซึ่งต้องไม่เกิดผลกระทบ คือ งานในความรับผิดชอบที่เป็นงานประจำ และงานเร่งด่วนเฉพาะหน้า โดยต้องมีการเตรียมความพร้อมดังนี้
– สำรองไฟล์ข้อมูลที่ต้องใช้ในการปฏิบัติงาน
– เอกสารที่เกี่ยวข้องในการปฏิบัติงาน
– อุปกรณ์ในการปฏิบัติงาน คอมพิวเตอร์ และเครือข่าย Internet
– เตรียมความพร้อมเรื่องการติดต่อประสานงาน เช่น หมายเลขโทรศัพท์ หรือช่องทางการติดต่อที่ไม่เป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติงาน
2. ในระหว่างการกักตัวจะต้องมีการวางแผนและจัดลำดับความสำคัญของงานที่ปฏิบัติ เพื่อไม่ให้กระทบต่องานในความรับผิดชอบและการดำเนินงานโดยรวมของหน่วยงาน
3. ในกรณีที่ผลตรวจเชื้อเป็นบวกจะมีการมอบหมายภาระงานให้บุคลากรในหน่วยงานปฏิบัติงานแทนตามความเหมาะสม

          ด้วยสถานการณ์ที่ไม่ปกตินี้ หน่วยประสานงานฯ จึงต้องเข้มงวดและรัดกุม “เพราะ COVID-19 ยังไม่หายไป…เรื่องความปลอดภัยเราให้ความสำคัญ

วันที่ประกาศ 01/10/2021