ข่าวประชาสัมพันธ์

อธิการบดีนำทีมอาจารย์หลักสูตรปิโตรเคมีและพอลิเมอร์ เยี่ยมชมดูงานวิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.สุรัสวดี กุลบุญ ก่อเกื้อ คณบดีสำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี นำทีมอาจารย์และนักวิชาการ หลักสูตรปิโตรเคมีและพอลิเมอร์ สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เดินทางไปเยี่ยมชมศึกษาดูงานและเจรจาความร่วมมือทางด้านงานวิจัย ณ วิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ (PETROMAT) โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.ปราโมช รังสรรค์วิจิตร คณบดีวิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ พร้อมด้วยผู้บริหาร อาจารย์ และพนักงาน ให้การต้อนรับ เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2563
ในการนี้ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้หารือถึงประเด็นการเข้าร่วมเป็นสมาชิกศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ (PETROMAT) และการพัฒนางานวิจัยร่วมกันระหว่าง 2 สถาบัน ทั้งทางด้านทุนวิจัย ครุภัณฑ์ การพัฒนาอาจารย์ และการเชื่อมโยงงานวิจัยกับอุตสาหกรรม อันจะช่วยขยายขอบเขตของงานวิจัย สร้างความเข้มแข็งทางด้านวิชาการและวิจัยให้กับหลักสูตรปิโตรเคมีและพอลิเมอร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น
ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดี กล่าวว่า มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์มีแผนจะปรับปรุงการเรียนการสอนในระดับบัณฑิตศึกษาให้เป็นหลักสูตรนานาชาติทั้งหมด และพยายามจะปรับในเรื่องการวิจัย และเป็นที่น่ายินดีที่ตอนนี้อาจารย์ของวลัยลักษณ์ มีการทำงานวิจัยมากขึ้น ซึ่งถือเป็นนิมิตรหมายอันดี สำหรับเรื่องการพัฒนาบัณฑิตศึกษาต่อไปอาจจะต้องรบกวนทางวิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี จุฬาฯ มากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องการพัฒนาอาจารย์ ซึ่งอาจจะต้องขอความอนุเคราะห์เป็นพิเศษ วลัยลักษณ์ได้ลงทุนอย่างมากในการพัฒนาอาจารย์ในสาขาต่างๆ และจุดแข็งมากที่สุด คือ ด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ เราสามารถคัดเด็กคุณภาพดีมาเรียนในหลักสูตรทางด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพได้จำนวนมาก และต่อไปก็จะพัฒนาทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อย่างเช่น วิศวะฯ ซึ่งมีฐานที่ดี มีอาจารย์จบปริญญาเอกจำนวนมาก และอาจารย์ที่สำนักวิชานี้ก็ชอบทำงานวิจัย รวมทั้งมีผลงานวิจัยที่เด่นๆ คิดว่าจะพัฒนาได้ไม่ยาก และหากได้รับการสนับสนุนจากทางวิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี ก็จะดีและง่ายยิ่งขึ้น
ด้าน ศาสตราจารย์ ดร.ปราโมช รังสรรค์วิจิตร กล่าวว่า มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์เป็นมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งที่เล็งไว้ว่าจะทำความร่วมมือด้วย สำหรับการเข้าร่วมเป็นสมาชิก PETROMAT สามารถเพิ่มสมาชิกได้ แต่จะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามข้อกำหนด และเป็นการดีหากจะได้ทำความร่วมมือระหว่างกัน
นอกจากการเจรจาสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางงานวิจัย คณะจากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ยังได้รับเกียรติอย่างยิ่งจากคณบดีวิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี ซึ่งได้นำชมห้องปฏิบัติการต่างๆ ทั้งที่ดำเนินการโดยวิทยาลัย และห้องปฏิบัติการร่วมของภาคเอกชน
อนึ่ง วิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ เป็นสถาบันที่มีความเข้มแข็ง โดดเด่นและมีชื่อเสียงทางด้านวิชาการและงานวิจัยในด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุในขั้นแนวหน้าของประเทศ มีผลงานวิจัยทั้งงานวิจัยพื้นฐานและงานวิจัยประยุกต์ที่เชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมเป็นจำนวนมาก เป็นที่ยอมรับในเวทีระดับประเทศและระดับนานาชาติ การได้ทำความร่วมมือระหว่างกันจะเป็นการสร้างความเข้มแข็งและนำไปสู่การศึกษาวิจัยที่กว้างขวางมากยิ่งขึ้นในอนาคต
วันที่ประกาศ 12/10/2020